อธิบดีกรมป่าไม้แนะนำ ปลูกไม้มีค่า 3 ปีมีกิน 15 ปีล่ำซำ

อธิบดีกรมป่าไม้ แนะนำ ปลูกไม้อะไรให้มีค่า 3 ปีมีกิน 15 ปีล่ำซำ ก่อนหน้านี้ไม้หวงห้ามและไม้หายาก 171 ชนิด ถูกปลดล็อก ให้ปลูก ตัดขายได้อย่างเสรี…มีคำถามว่า ถ้าคิดจะทำสวนป่า ควรจะปลูกชนิดไหน ถึงจะได้ราคาดี คุ้มค่ากับที่ดินและเวลาที่เสียไป

“ถ้าจะมองกันแค่เรื่องราคาไม้เป็นหลัก ไม้ชนิดราคาแพงที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ พะยูง ชิงชัน ประดู่ป่า สักทอง และ ตะเคียนทอง ไม้ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 50 ซม.ขึ้นไป ความยาว 2 เมตร ไม้พะยูงจะมีราคาแพงที่สุดอยู่ที่ท่อนละ 1 ล้านบ าท ไม้อันดับรองลงมาเป็นไม้ชิงชันกับประดู่ป่า ราคาที่ซื้อขายในปัจจุบันอยู่ที่ท่อนละ 800,000 บ าท ส่วนไม้สักทองกับตะเคียนทอง อยู่ที่ท่อนละ 500,000 บ าท แต่ถ้าส่งออกไปต่างประเทศโดยเฉพาะจีน จะได้ราคาสูงขึ้นไปอีกถึง 3 เท่า”

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ บอกว่า สาเหตุที่ไม้ 3 ชนิดแรก พะยูง ชิงชัน ประดู่ป่า มีราคาสูงลิ่ว เพราะเนื้อไม้มีสีแดง ในอดีตพระราชวังต้องห้ามจะตกแต่งด้วยไม้สีแดง เลยกลายเป็นค่านิยมของคนจีน ใครมีเฟอร์นิเจอร์ไม้สีแดงสะสมไว้จะถือว่าเป็นคนมั่งคั่งร่ำรวย

เอาแค่ชิ้นเล็กๆ อย่าง ชุดชงน้ำชา หรือเครื่องราง ที่ทำจากเศษไม้พะยูงชิ้นเล็กชิ้นน้อย ยังซื้อขายกันแบบชั่งกิโล ในราคา กก.ละ 300-1,000 บ าท แล้วแต่ขนาดของชิ้นเศษไม้ ถ้าชิ้นเล็กๆราคาจะต่ำ ชิ้นใหญ่ๆจะได้ราคาดี

แต่การปลูกไม้มีราคาสูงเหล่านี้ มีข้อด้อยตรงต้องใช้เวลาปลูกนานเกินกว่า 10 ปี ถึงตัดขายได้ อธิบดีกรมป่าไม้แนะว่า หากคิดจะทำสวนป่าตัดไม้ขาย ควรทำสวนป่าแบบผสมผสาน

“จะต้องปลูกไม้หลายชนิด ที่มีอายุให้ตัดฟันไปขายได้หลายระยะเวลา เพื่อเกษตรกรจะมีรายได้อย่างต่อเนื่อง ควรปลูกทั้งไม้โตเร็วอายุรอบตัดฟันแค่ 3 ปี อย่าง ไผ่ ยูคาลิปตัส ปลูกในวงรอบนอกของเขตพื้นที่แปลง เพื่อความสะดวกในการตัดฟันและช่วยป้องกันลมให้กับชนิดอื่นที่โตช้า จะช่วยให้มีรายได้เฉลี่ยไร่ละ 28,000 บ าทต่อปี

วงรอบถัดมา ควรปลูกไม้ที่มีรอบตัดฟันน้อยกว่า 10 ปี ได้แก่ กระถินเทพา กระถินเทพณรงค์ ยางพารา ฯลฯ ประมาณ 267 ต้นต่อไร่ ช่วยให้มีรายได้เฉลี่ยไร่ละ 66,000 บ าทต่อปี

และระหว่างต้นไม้โตเร็วอายุตัดน้อยกว่า 10 ปี ให้ปลูกไม้เศรษฐกิจที่มีราคาสูง พะยูง พะยอม ยางนา สักทอง ประดู่ป่า มะค่าโมง ตะเคียนทอง อินจัน ฯลฯ ลงไปแซม 100 ต้นต่อไร่ คิดเอาเองก็แล้วกัน 15 ปีตัดได้ ต้นละไม่ต่ำกว่า 2 แสน เป็นเท่าไร”

แต่การจะปลูกไม้มีค่าให้ได้คุณภาพ ตัดขายได้ราคาดี สิ่งสำคัญที่สุด นายอรรถพล ให้ข้อคิดก่อนปลูก…ต้องคำนึงถึง สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ดิน น้ำ และพันธุ์ไม้ ที่เหมาะสมกับพื้นที่ทำสวนป่า

ภาคเหนือควรจะปลูกไม้สักทอง ไม้ชิงชัน เพราะจะเติบโตได้ดี ภาคอีสาน เหมาะกับไม้พะยูง พะยอม กระถินเทพณรงค์ ส่วน ประดู่ป่า ตะเคียนทอง ถือเป็นไม้ที่สามารถปลูกได้ดีทั่วประเทศ

ไม่ใช่เห็นเขาว่า ปลูกไม้พันธุ์โน้นพันธุ์นั้นขายได้ราคาแพง แล้วนึกแห่ปลูกมั่วไปหมด ผลสุดท้ายพากันเจ๊งเหมือนอย่างหลายสิบปีก่อน ที่เห่อกันปลูกไม้สักทอง ปลูกกันเต็มไปหมดในภาคกลาง จากไม้สักกลายเป็นไม้สวก…ไม่โต เนื้อไม้อ่อน ลายไม้ไม่มี เพราะปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสม ได้น้ำฝนเยอะเกินไป.

พะยูง เป็น 1 ใน 9 ของ “ไม้มงคล” ที่ใช้ในพิธีวางศิลาฤกษ์ นอกเหนือจาก ราชพฤกษ์ ขนุน ชัยพฤกษ์ ทองหลาง ไผ่สีสุก ทรงบาดาล สัก กันเกรา พะยูง เชื่อว่าเป็นมงคล คือพยุงฐานะให้ดีขึ้น ความสวยงามของเนื้อไม้ตามธรรมชาตินั้น อยู่ที่ลวดลายวงปีที่ถี่ยิบ เนื่องจากการเติบโตปีละนิดๆ ลำต้นส่วนใหญ่คดงอก็ยิ่งทำให้เกิดลวดลาย สีเนื้อไม้แดงเข้มจนอมม่วง กระพี้สีขาว เรียกว่า เนื้อไม้พะยูง สวยยิ่งกว่าไม้ใดๆ หลายเท่านัก

คุณสมบัติเด่นของไม้พะยูงอยู่ตรงความที่เป็นไม้ที่มีเนื้อละเอียด เหนียว แข็ง ทนท าน และชักเงาได้ดี มีน้ำมันในตัว จึงทำให้คนไทยนิยมนำไปใช้ทำเครื่องเรือน เครื่องใช้ในการแกะสลักและทำด้ามเครื่องมือต่างๆ ใช้ทำเกวียน เครื่องกลึงแกะสลัก ทำเครื่องดนตรี เช่น ซอ ขลุ่ย ลูกระนาด หรือแม้กระทั่ง ไม้คมแฝก ตะบอง และไม้เท้า

ทำไมไม้พะยูงถึงแพง?!

“ไม้พะยูง” จัดเป็นไม้ที่มีราคาแพงชนิดหนึ่งในตลาดโลก นับวันการลักลอบตัดไม้พะยูงจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการตัดในป่าธรรมชาติ ไปถึงบนพื้นที่ป่าสาธารณะ ในวัด ฯลฯ ตัด และลักลอบไปทำอะไร คำตอบก็คือ ส่วนใหญ่ส่งไปประเทศจีน ซึ่งมีความต้องการอย่างมาก เพราะมีความเชื่อในเรื่องการเป็นไม้มงคลเช่นเดียวกับไทย

เริ่มจากที่ทางการจีนได้บูรณะซ่อมพระราชวังของจักรพรรดิเมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว เมื่อช่างฝีมือดีได้รื้อแล้วซ่อมง านไม้ต่างๆ พบว่า ส่วนที่สำคัญที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับฮ่องเต้ เช่น เก้าอี้ ตั่งโต๊ะต่างๆ ล้วนทำจากไม้พะยูง และยังมีสภาพดีอยู่มาก ทั้งๆ ที่ผ่านมาแล้วหลายร้อยปี ทำให้เกิดกระแสต้องการไม้พะยูงมาทำเฟอร์นิเจอร์ปริมาณมากมายมหาศาล

สำหรับไม้ท่อนใหญ่ๆ ต้นสวยๆ ราคาในประเทศไทยขายกัน ลูกบาศก์เมตรละ 300,000-500,000 บ าท (ไม้สัก ลูกบาศก์เมตรละ 30,000-50,000 บ าท) มีการเปรียบเสมือนมีคนเอาทองคำไปแขวนอยู่ตามป่า จะเฝ้าอย่างไร ก็ไม่มีทางรอดพวกจ้องจะสอย

ขอขอบคุณที่มาข้อมูล : thairath เรียบเรียงโดย : เกษตรบ้านทุ่ง

Facebook Comments Box