ขออาสาพามายังอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ถูกสร้างขึ้นจากเรื่องราวของพ่อ จากความจงรักภักดีและ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ที่ทรงงานอย่างหนักเพื่อประชาชนคนไทย
สถานที่แห่งนี้มีชื่อว่า นาเฮียใช้ หรือ ศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย ก่อตั้งโดยคุณนิทัศน์ เจริญธรรมรักษา (บุตรชายของเฮียใช้) ซึ่งมีอาชีพเกี่ยวข้องกับชาวนาและข้าว จึงมีโอกาสได้สัมผัสกับชาวนาอย่างลึกซึ้ง ได้เห็นปัญหา อุปสรรค และความงดงามของวิถีชาวนา จนเกิดเป็นความคิดที่จะสร้างที่นี่ขึ้น เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้การทำนาที่เหมาะสมกับสภาวะปัจจุบัน สามารถลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต ภายใต้หลัก ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญาที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำรัสแก่ชาวไทย โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อผลิต เมล็ดพันธุ์ข้าว คุณภาพดี ให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร เพื่อให้ชาวนาประสบความสำเร็จในอาชีพทำนาอย่างมีเกียรติ อีกทั้งผู้ที่สนใจยังได้เรียนรู้วิถีชีวิตของบรรพบุรุษไทยในอดีต ทำให้เข้าใจถึงความเป็นไทยอย่างแท้จริง
ภายในศูนย์เรียนรู้ฯ ประกอบด้วยส่วนต่างๆ มากมาย เมื่อมาถึงสิ่งแรกที่เห็นแล้วสะดุดตาก็คือ แปลงนาสาธิต สำหรับสาธิตลักษณะพันธุ์ข้าวนาปรัง ๑๒ ชนิด พันธุ์ที่นิยมปลูกในปัจจุบันของ ๔ ช่วงอายุข้าว เพื่อให้ชาวนาและผู้สนใจได้มีความรู้ในการตัดสินใจเลือกชนิดพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมโดยปักดำด้วยกล้าเพียงต้นเดียว เพื่อให้เห็นถึงความสามารถในการแตกกอต้นข้าว และยังได้ร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องข้าวกับปราชญ์ผู้มากประสบการณ์ รวมถึงมีกิจกรรมลงแขกเกี่ยวข้าวให้กับผู้ที่สนใจอีกด้วย
ใกล้ๆ กัน หากใครอยากจะเห็นภาพในมุมสูงก็จะมี หอเตือนภัยชาวนา หอคอยสูง ๓ ชั้น ความสูง ๑๔.๕ เมตร ก่อสร้างด้วยไม้เนื้อแข็ง ออกแบบด้วยความประณีตเป็นเอกลักษณ์ ให้ขึ้นไปชมทัศนียภาพที่สวยงามในมุมสูง และได้ยังมีการติดตั้งเครื่อง ขยายเสียงและสัญญาณเตือน ภัยเพื่อให้ชาวนาระวังได้อย่างทันท่วงที
จากท้องทุ่งนาขยับมากันที่ เรือนหนังสือพระราชกรณียกิจและเรือนหนังสือข้าว ที่เก็บรวบรวมด้วยหนังสือพระราชกรณียกิจตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และหนังสือที่ให้ความรู้ด้านกระบวนการผลิตข้าว ในขั้นตอนต่างๆ ซึ่งตั้งอยู่ติดกับ เรือนศูนย์รวมดวงใจไทยทั้งชาติ เรือนไทยที่สร้างด้วยความตั้งใจในการแสดงความจงรักภักดีต่อพ่อหลวงของแผ่นดิน ภายในมีการจัดแสดงพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครั้งเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ พระบรมฉายาลักษณ์ ในพระราชกรณียกิจต่างๆ จัดแสดงพระบรมรูป และพระบรมสาทิสลักษณ์ราชวงศ์จักรี ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๙
ไปต่อกันที่ เรือนพระแม่โพสพ ภายในเรือนจัดแสดง องค์แม่โพสพแกะสลักจากไม้สักทั้งท่อนและรูปหล่อแม่โพสพในยุคต่างๆ ตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จัดแสดงชนิดพันธุ์ข้าวนาปรังที่นิยมปลูกในปัจจุบัน รวมถึงซุ้มการเวก เป็นที่สำหรับให้ประชาชนที่เข้ามาสักการะแม่โพสพได้นั่งพักผ่อน
ข้ามฝั่งมาที่ เรือนวิถีชีวิตชาวนาไทยในอดีต ประกอบด้วย เรือนไทยโบราณหมู่ 4 หลัง คือ เรือนไทยหลังใหญ่ เรือนลูกซ้าย เรือนลูกขวา และครัวไฟ เรือนแห่งนี้ เป็นเรือนไทยยกพื้นสูง บริเวณใต้ถุนเรือน เป็นสถานที่จัดแสดงอุปกรณ์เครื่องใช้ในอดีต จัดแสดงยุ้งข้าวในอดีตและอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ เช่นเครื่องมือในการทำนา เครื่องมือในการดักจับปลา เครื่องมือสำหรับทำงานไม้รวมทั้งคอกควายซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งของชีวิตชาวนาไทยแต่ดั้งเดิม
ร้านโชห่วยหรือร้านขายของในอดีต เรือนหลังนี้คือการจำลองร้านค้าในอดีตซึ่งได้เก็บรวบรวมส่วนประกอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชั้นวางสินค้า โต๊ะและ เก้าอี้ รวมทั้งสินค้าที่เคยจำหน่ายในครั้งอดีตซึ่งใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ลอตเตอรี่เก่าสมัยก่อน จึงนับได้ว่าจุดแสดงร้านโชห่วย หรือร้านขายของในอดีต จะเป็นจุดย้อนรำลึกถึงความหลัง สำหรับผู้เข้าชมที่มีวัยอยู่ในยุคสินค้าเหล่านั้น จัดวางจำหน่ายและแสดง ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้วิถีชีวิตไทยในอดีต ผ่านรูปแบบและชนิดสินค้าต่างๆ ที่จัดแสดง
พื้นที่ทั้งหมดของนาเฮียใช้ ที่ถูกจัดสรรขึ้น เป็นสิ่งที่จะทำให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน กล่าวคือ เมื่อชาวนาเข้ามาศึกษาหาความรู้และนำ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กลับไปปฎิบัติก็จะทำให้ประสบความสำเร็จในอาชีพทำนา ซึ่งนับว่าเราทุกคนที่เกิดเป็นคนไทยล้วนแต่เป็นผู้โชคดีอย่างยิ่ง ที่มีอดีตพระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีพระปรีชาสามารถ และห่วงใยราษฎร พระองค์ทรงครองราชย์ด้วยความเหน็ดเหนื่อยยากลำบากและเสียสละ เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของพสกนิกรผู้อาศัยบนผืนแผ่นดินไทยทุกคนครับ
เรียนรู้วิถีชาวนา จากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อ ณ นาเฮียใช้ ได้ที่ จ.สุพรรณบุรี
ที่ตั้ง : 150/6 หมู่ 8 ต.บ้านโพธิ์ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี 72000
โทร : 035-446955, 092-6261515
เวลาเปิด-ปิด : เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00-18.00 น.
เว็บไซต์ : www.facebook.com/naherechai/