ลูกค้ารายนี้ประหลาด อาจจะบ้า! เดินถือรองเท้าคู่หนึ่งเข้ามาในร้านของเขา แล้วก้มกราบรองเท้า มันเป็นรองเท้าหนังสีดำ ผลิตในประเทศ ราคาไม่แพง สภาพรองเท้าชำรุด ซับในแทบทั้งหมดหลุดลุ่ย น่าจะผ่านการใช้งานมาสักยี่สิบปี บางทีเจ้าของรองเท้าอาจเห็นว่า หนังยังดีอยู่ก็เป็นได้
ลูกค้ารายนี้อาจจะบ้าจริง ๆ ถือพานวางรองเท้ามาให้เขาซ่อม เขาอยากบอกว่า “ซื้อคู่ใหม่เถอะ” แต่แววตาสีหน้าของชายผู้นี้บอกว่าต้องการให้ซ่อม “เจ้าของรักรองเท้าคู่นี้มาก เป็นรองเท้าคู่โปรด” เขานึกในใจว่า ใครหนอที่ยังเก็บรองเท้าเก่าขนาดนี้ไว้
ลูกค้ารายนั้นบอกเหมือนรู้ใจว่า “เป็นฉลองพระบาทคู่โปรด พระองค์ใช้ทรงดนตรี” เขาตะลึง คำว่า ‘ฉลองพระบาท’ มิใช่คำสามัญ คำว่า ‘พระองค์’ ก็ไม่ใช่ “ฉลองพระบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” เขาขนลุกซู่ พูดอะไรไม่ออกอยู่นาน
มหาดเล็กผู้นำฉลองพระบาทมาซ่อมถามว่า “ตกลงซ่อมได้ไหม?” “ซ่อมได้ ๆ แต่คงต้องใช้เวลานานหน่อย” ความจริงใช้เวลาเพียงชั่วโมงเดียวก็ซ่อมเสร็จ แต่ชั่วโมงเดียวสั้นเกินไปที่ฉลองพระบาทคู่นี้ควรจะอยู่ในร้าน!
เขามาจากต่างจังหวัด เข้าเมืองหลวงทำงานเป็นลูกจ้างร้านรองเท้าแห่งหนึ่ง สั่งสมฝีมือจนเชี่ยวชาญ จนในที่สุดก็เปิดร้านรองเท้านี้
เขาซ่อมรองพระบาทคู่นั้นอย่างตั้งใจ เมื่อเสร็จแล้ววางบนพานใบหนึ่ง ปูรองด้วยผ้าสีเหลืองวางไว้บนที่สูงที่สุดในร้าน เขาเก็บเศษชิ้นส่วนของฉลองพระบาทไว้ทุกชิ้น แม้กระทั่งธุลี ไว้บูชา เป็นมงคลแก่ตัว
รองพระบาทของบุคคลผู้เดินทางไปทั่วทุกสารทิศเพื่อช่วยเหลือคนยาก ย่อมเป็นสิ่งของที่คู่ควรแก่การบูชา
เขานำพื้นรองพระบาทใส่กรอบ ทุกครั้งที่เขามองดู ก็รำลึกว่าครั้งหนึ่งมีโอกาสที่ช่างซ่อมรองเท้าคนอื่นไม่มี ความเก่าและรอยขาดทำให้เขาเห็นปรัชญา ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ที่เจ้าของรองพระบาทเป็นผู้ริเริ่ม อย่างเป็นรูปธรรมจริง ๆ
ไม่นานต่อมา มหาดเล็กคนเดิมนำรองเท้ามาอีก คู่นี้มีรอยสุนัขกัด “ฝีมือคุณทองแดง” แล้วฉลองพระบาทอีกหลายคู่ก็ตามมาวันหนึ่งเขาตัดรองเท้าคู่ใหม่ โดยวัดขนาดจากฉลองพระบาทที่ส่งมาซ่อม ทำด้วยหัวใจ เป็นรองพระบาทถวายพระองค์
รองพระบาทที่จะใช้บุกป่าฝ่าดงไปทั่วทุกสารทิศเพื่อช่วยเหลือคนยาก ย่อมเป็นสิ่งของที่คู่ควรแก่การทำด้วยหัวใจ รองพระบาทคู่นั้นเดินทางหายไปราวสามเดือนเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง